บริการ Mobile X-ray

บริการรถเอกซเรย์เคลื่อนที่ (Mobile X – Ray) ตามมาตรฐาน

ของกองรังสีแพทย์ด้วยระบบดิจิตอล

    

   

การตรวจเอกซเรย์ปอด หรือ การตรวจเอกซเรย์หน้าอก (Chest X-ray) 

เป็นการตรวจทางรังสีวิทยา ที่ใช้รังสีเอกซ์ถ่ายภาพทรวงอกลงบนแผ่นฟิล์ม การตรวจเอกซเรย์ปอด เป็นการตรวจที่แพทย์นิยมสั่งตรวจมาก เพราะสามารถช่วยวินิจฉัยความผิดปกติของอวัยวะภายในช่องอก เช่น ปอด หัวใจ กระดูกซี่โครง ได้อย่างชัดเจนและรวดเร็ว

การตรวจเอกซเรย์ปอด ใช้บ่งบอกอะไรบ้าง?

การตรวจเอกซเรย์ปอด จะใช้ดูความผิดปกติของอวัยวะภายในช่องอก และวินิจฉัยโรคต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่

  • ความผิดปกติของปอด เช่น ภาวะน้ำท่วมปอด วัณโรคปอด ถุงลมโป่งพอง ปอดบวม ปอดแฟบ เนื้องอกในปอด และมะเร็งปอด
  • ความผิดปกติของหัวใจ เช่น ขนาดและรูปร่างของหัวใจผิดปกติ หลอดเลือดหัวใจมีรูปร่างและตำแหน่งผิดปกติ
  • ความผิดปกติของกระดูก เช่น กระดูกสันหลังและกระดูกซี่โครงแตกร้าว

นอกจากนี้ การตรวจเอกซเรย์ปอดยังใช้เพื่อเตรียมการผ่าตัดในช่องอก รวมถึงใช้วินิจฉัยอาการต่างๆ เช่น ไอเรื้อรัง ไอเป็นเลือด เจ็บแน่นหน้าอก หายใจลำบาก เป็นต้น

การเตรียมตัวก่อนมาตรวจเอกซเรย์ปอด

  • ไม่ต้องเตรียมตัวเป็นพิเศษ ไม่จำเป็นต้องงดน้ำงดอาหาร หรือหยุดยาก่อนมาตรวจ
  • หญิงตั้งครรภ์ควรงดเว้นการตรวจเอกซเรย์ปอด เนื่องจากเซลล์ตัวอ่อนมีความไวต่อรังสีเอกซ์ ดังนั้น หากทราบว่าตั้งครรภ์ หรือสงสัยว่าอาจจะตั้งครรภ์ (เช่น ประจำเดือนขาด) ให้แจ้งแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ให้ทราบก่อน เพื่อใช้การตรวจอื่นๆ ที่ไม่กระทบต่อเด็กในครรภ์ เช่น การอัลตราซาวน์ หรือตรวจ MRI
  • ควรสวมเสื้อผ้าที่ใส่สบาย ไม่รัดแน่น และหลีกเลี่ยงการสวมเครื่องประดับหรือเสื้อผ้าที่มีชิ้นส่วนโลหะ
  • ก่อนตรวจต้องถอดเครื่องประดับทุกชิ้นที่เป็นโลหะออก เช่น สร้อยคอ รวมถึงนำของใช้ติดตัว เช่น ผ้าเช็ดหน้า เงินเหรียญ กระเป๋าสตางค์ นาฬิกา ออกไปด้วย เพื่อไม่ให้รบกวนการถ่ายภาพด้วยเอกซเรย์
  • ก่อนการตรวจจะต้องเปลี่ยนเสื้อเป็นเสื้อกาวน์เอกซเรย์ (X-ray gown) โดยผู้หญิงจะต้องถอดเสื้อชั้นในออกด้วย และรวบผมขึ้นพ้นต้นคอ
  • ระหว่างการตรวจ เจ้าหน้าที่จะจัดท่าทางให้เหมาะสมที่สุด และให้เราสูดหายใจให้เต็มปอด กลั้นไว้ให้นิ่งที่สุด เพื่อให้ถ่ายภาพออกมาได้คมชัด ซึ่งการตรวจใช้เวลาไม่นานนัก

ข้อควรระวังในการตรวจเอกซเรย์ปอด

  • หากเคยผ่าตัดฝังอุปกรณ์โลหะไว้ในร่างกาย ให้แจ้งแพทย์ก่อนตรวจเอกซเรย์เสมอ
  • ผู้ที่เคยผ่าตัดปอดมาก่อนต้องแจ้งแพทย์ก่อนตรวจทุกครั้ง เพราะอาจให้ภาพถ่ายเอกซเรย์ที่คลาดเคลื่อนได้

ข้อจำกัดของการตรวจเอกซเรย์ปอด

การตรวจอาจมีความไวต่ำ หากความผิดปกติเกิดขึ้นเพียงเล็กน้อย เช่น มีจุดในปอดขนาดเล็กมาก การตรวจเอกซเรย์ปอดอาจเห็นได้ไม่ชัดเจน ทำให้วินิจฉัยโรคระยะเริ่มแรกได้ล่าช้า  ดังนั้น หากสงสัยว่ามีความผิดปกติ ให้ตรวจเอกซเรย์ซ้ำทุกๆ 3 เดือน เพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลง หรือใช้การตรวจที่แม่นยำกว่า อย่างการทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ซึ่งมีราคาสูงกว่า และการทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์บ่อยครั้ง ก็เสี่ยงต่อการรับรังสีปริมาณมาก

 

Visitors: 148,238